รวบรวมผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาธุรกิจในชุมชนจาก 2 โครงการคือ การปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมพื้นบ้านในภาคเหนือตอนบน และการพัฒนานักวิจัยเชิงปฏิบัติการไตรภาคีเพื่อยกระดับวิสาหกิจชุมชนระยะที่ 1: ภาคเหนือตอนบน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับจุลภาค โดยใช้วิธีวิเคราะห์เจาะลึกกลุ่มชุมชนหรือผู้ผลิตรายเดี่ยว ในด้านการบริหารจัดการองค์กร การผลิต การตลาด และการเงินอย่างครบวงจร และวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ตลอดจนโอกาสและอุปสรรค เพื่อนำไปวางแผนธุรกิจหรือปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจของกลุ่ม ข้อมูลทั้งหมดนำมาสังเคราะห์/วิเคราะห์เพื่อให้ได้ภาพรวมของภาคธุรกิจชุมชน และนำเสนอ กลยุทธเชิงนโยบายระดับภาค บทสรุปของงานวิจัยทั้ง 2 โครงการ สาระประกอบด้วย 2 ภาค ภาคแรก นำเสนอแนววิธีการวิจัย ข้อค้นพบ และข้อสรุปเชิงนโยบาย ตลอดจนการวิเคราะห์ความเป็น "วิสาหกิจชุมชน" ภาคที่สอง เป็นเสมือนบทคัดย่อกรณีศึกษาจากรายงานรวมทั้งสิ้น 108 เรื่อง ผู้อ่านจะได้รู้จักกลุ่มผู้ผลิต เป็นราย ๆ ไป เช่น ประเด็นความไม่เข็มแข็งขององค์กร การขาดเอกลักษณ์ของผลิตตภัณฑ์ของกลุ่ม หรือความสามารถของผู้นำ เป็นต้น


     สิ่งสำคัญของการพัฒนาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง คือ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐกับชุมชนบนฐานของการใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในพื้นที่ และการเรียนรู้ ตลอดจนการพัฒนาร่วมกันของชุมชนตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยกระบวนการการวางแผนพัฒนาจำเป็นต้องมี “เครื่องมือ” ที่สามารถเชื่อมโยงกิจกรรมในแผนไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้โดยใช้ข้อมูลของแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม โครงการ “การศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงระดับชุมชน/หมู่บ้านในลักษณะบูรณาการ” (การขยายผลการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตำบลอย่างเป็นรูปธรรมตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง) โดยคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมถึงนักวิจัยสมทบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานฉบับสมบูรณ์นำเสนอผลการศึกษาและกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโครงการการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงระดับชุมชน/หมู่บ้านในลักษณะบูรณาการ รวมถึงผลการประยุกต์ใช้เครื่องมือตารางเพื่อการวางแผนเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Matrix : SEM) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวนทั้งสิ้น 20 แห่ง ที่มีสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนทุนทรัพยากรธรรมชาติที่แตกต่างกัน โดยผลของการวิเคราะห์ที่ได้จาก SEM จะนำไปสู่พื้นฐานการรใช้ข้อมูลที่เป็นรูปธรรมที่แสดงถึงความเชื่องโยงของแต่ละหน่วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคมที่เกิดขึ้นของแต่ละชุมชน ทำให้ผู้ที่มีหน้าที่วางแผนการพัฒนาสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาเชิงลึกในทิศทางที่ชัดเจนและสอดคล้องกับสภาพปัญหาและเป้าหมายที่ถูกกำหนดจากชุมชนมากยิ่งขึ้น ตามลำดับความสำคัญที่ชุมชนเป็นผู้พิจารณาร่วมกัน ดังนั้นเครื่องมือตารางเพื่อการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEM) จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถเพิ่มศักยภาพของทั้งแผนชุมชนและพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากขึ้น และทำให้การวางแผนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งอยู่บนพื้นฐานการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม
     โครงการเศรษฐกิจสมดุลใหม่ ความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สู่การพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน4 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ไขจุดอ่อนของโครงสร้างการพัฒนาที่ไม่สมดุล และค้นหาความสมดุล ที่จะส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจมีเสถียรภาพและมั่นคง สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก สังคมอยู่เย็นเป็นสุข และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืน โครงการนี้อาศัยข้อมูลจากเอกสารกว่า 600 หัวเรื่อง และจากเวทีระดมความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมและผู้เชี่ยวชาญรวม 12 ครั้ง และใช้การวิเคราะห์สังเคราะห์เชิงคุณภาพ ตลอดจนการวิเคราะห์เชิงปริมาณแบบบูรณาการและพลวัตในระดับท้องถิ่นด้วยแบบจำลองแผนเศรษฐกิจพอเพียง และในระดับมหภาคด้วยแบบจำลองเชิงระบบพลวัต (system dynamics) การศึกษาพบว่าแนวทางการพัฒนาและการบริหารจัดการที่ผ่านมา ส่งผลให้สังคมไทยขาดความสมดุลอย่างมาก ความอยู่เย็นเป็นสุขมีค่าเฉลี่ยเพียง 62 คะแนนจาก 100 คะแนน เนื่องจากขาดความสมดุลด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม โดยเฉพาะด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม การที่จะยกระดับความสมดุลได้จำเป็นต้องปรับสัดส่วนการผลิตเกษตร: อุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร: บริการ จาก 9: 41: 50 ให้เป็น 15: 36: 49 ทั้งนี้สังคมไทยต้องปรับกระบวนทัศน์ในการพัฒนาใหม่ โดยลดความต้องการ (อุปสงค์) ที่เกินความจำเป็น และจัดการด้านอุปทานให้สอดคล้องกันตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง งานวิจัยได้เสนอแนวนโยบายแห่งรัฐระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว พร้อมมาตรการที่เป็นรูปธรรม
     ข้อตกลงการค้าเสรีไทยจีน และอาเซียน-จีน รวมถึงการเสริมเส้นทางขนส่งระเบียงเหนือใต้ เป็นโอกาสขยายการค้าระหว่างประเทศไทยกับจีนและประเทศในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ในขณะเดียวกันนำมาซึ่งความกังวลในเรื่องความพร้อมของจังหวัดเชียงรายในการปรับตัวกับการเติบโตทางการค้าอย่างก้าวกระโดดในอนาคต รายงานฉบับนี้นำเสนอผลการจัดประชุมระดมความคิดเห็นจากภาคีทุกภาคส่วนของจังหวัดเชียงรายเพื่อวิเคราะห์ศักยภาพการค้าชายแดนโดยเฉพาะปัญหาในแต่ละสาขาเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน และผลกระทบด้านสังคมของการค้าชายแดน ทั้งนี้เป้าหมายสุดท้ายของการจัดประชุมฯ คือโจทย์วิจัย และแนวทางการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันการค้าชายแดน วิธีการหลักเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลคือ การจัดประชุมเสวนา 2 ครั้ง ในจังหวัดเชียงราย โดยมีการสำรวจประเด็นจากผู้รู้หลัก ( key informants) และจากการประชุมก่อนวาระ (pre-conference) กับสภาหอการค้าจังหวัดเชียงรายและการทบทวนวรรณกรรมเพื่อให้ได้ความรู้พื้นฐานที่จำเป็น ผลของการจัดประชุมได้ชี้ความจำเป็นหลักเพื่อการพัฒนา 3 ประการนั่นคือ (1) ตำแหน่งการค้าเชิงยุทธศาสตร์ของจังหวัด การปฏิรูปโครงสร้างระบบสนับสนุน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเชียงรายอาจเลือกเป็นหน้าด่านประตูผ่านของการค้า หรือเป็นศูนย์กลางการค้า ไทย-จีน โดยเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและปลอดภาษี (2) การปฏิรูปโครงสร้างระบบสนับสนุน เพื่อแก้ปัญหาการบริหารจัดการที่ขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานเอกชน ภาคีประชาคมเพื่อแก้ไขอุปสรรคต่อการแข่งขันอันเกิดจากกฎระเบียบต่างๆ และการขาดแคลนระบบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ (3) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะความสามารถในการประกอบการในภาคพาณิชย์ โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว และภาคเกษตร การจัดประชุมลงลึกใน 4 ส่วน (คือ ภาคเกษตร ภาคการค้าและโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว สังคม และ วัฒนธรรม และการบริหารจัดการ) นำมาซึ่งคำถามในการกำหนดโจทย์วิจัยจำนวนมาก และได้เป้าหมายการศึกษาวิจัย “เชียงรายเป็นผู้นำในการศึกษาการส่งออกไปจีน”
     เป้าหมายของโครงการเพื่อได้แนวทางการเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อการจัดการด้านเศรษฐกิจชุมชน โดยมีการออกแบบเครื่องมือการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับชุมชน และวิเคราะห์ศักยภาพการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจของชุมชน วิธีการดำเนินงานอาศัยเครือข่ายชุมชนใน 4 จังหวัดนำร่อง คือ พิษณุโลก ชัยนาท กาฬสินธุ์ และนครศรีธรรมราช และใช้แบบสำรวจเศรษฐกิจชุมชนและการจัดเวทีเรียนรู้เป็นอุปกรณ์การศึกษา แบบสำรวจเศรษฐกิจชุมชนซึ่งตัวแทนชุมชนได้เก็บรวบรวมไว้แล้ว เป็นเครื่องมือชิ้นแรกเพื่อการเรียนรู้ความสำคัญของข้อมูลที่ถูกต้องและสมบูรณ์ การออกแบบเครื่องมือเพื่อใช้กับข้อมูลชุดนี้อาศัยหลักทฤษฎีและแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ ซึ่งทำให้ได้เครื่องมือการเรียนรู้จำนวน 6 ชุด คณะวิจัยได้เก็บข้อมูลเพิ่มเติมในด้านการผลิตของพืชหลักเพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพการผลิต วัดช่องว่างผลผลิต และได้เครื่องมืออีก 1 ชุด พร้อมกันนี้ได้สร้างเครื่องมือเพิ่มเติมสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลบัญชีครัวเรือน และปรับปรุงแผนแม่บทชุมชน รวมทั้งสร้างเครื่องมือสำหรับข้อมูลแผนชุมชน ซึ่งทำให้ได้เครื่องมือเพิ่มขึ้นจำนวน 2 ชุด จากการวิเคราะห์สังเคราะห์ผลการเรียนรู้จากเครื่องมือ 7 ชุดแรก พบว่าชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลอย่างดียิ่ง และให้ความสนใจเรียนรู้การวิเคราะห์ผลผลิต ต้นทุนและผลตอบแทนมากที่สุด หัวข้อที่สนใจและเห็นประโยชน์แตกต่างกันตามบทบาทหน้าที่ของผู้เรียนในสังคม เนื่องจากความรู้ด้านเศรษฐกิจชุมชนมีลักษณะเป็นนามธรรมสูง ผลการวิเคราะห์จากการศึกษาแบบจำลอง Tobit พบว่าระดับความเข้มแข็งของชุมชน จำนวนครั้งที่เข้าร่วมปฏิบัติการ อายุของผู้เรียนและบทบาทในชุมชนมีผลต่อความเข้าใจของการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โครงการเสนอแนะแนวทางเชิงนโยบายในการขยายผลการเรียนรู้ตนเองของชุมชนในวงกว้าง ในด้านสาระการเรียนรู้และการจัดการหลักสูตรเศรษฐกิจชุมชนควรคำนึงถึงศักยภาพและความสนใจเฉพาะหน้าของชุมชน การออกแบบควรให้เกิดการเรียนรู้จากข้อบกพร่องของข้อมูลและเครื่องมือ ในด้านการบริหารควรมีการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้อย่างถาวร โดยให้ สกว. สกอ. ร่วมกับจังหวัดที่สนใจดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการสร้างวิทยากรท้องถิ่นเพื่อแนะนำการเก็บและสังเคราะห์ข้อมูล โดยมีบุคลากรจากสถาบันการศึกษาเป็นพี่เลี้ยง และใช้แผนชุมชนเป็นเครื่องมือสำหรับการขยายผลทั้งประเทศ
6.1 คู่มือการวิเคราะห์เศรษฐกิจชุมชน (ฉบับชาวบ้าน)
โครงการฯ “ได้รับการสนับสนุนแหล่งทุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอื่น ๆ อีกจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ มศว. มข. และ มอ. รวมถึงหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน เครือข่ายแรงงานนอกระบบแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อศึกษาวิเคราะห์สภาพข้อเท็จจริงของแรงงานนอกระบบในแต่ละพื้นที่ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง สุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างแบบจำลอง (model) ระบบข้อมูลแรงงานนอกระบบที่สามารถนำไปใช้อธิบายและพยากรณ์สภาพความเป็นไปของแรงงานนอกระบบอย่างหลากหลาย นำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและการแก้ไขปัญหาทางด้านแรงงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แบบจำลอง (model) หมายถึง การออกแบบตัวอย่างระบบการจัดเก็บข้อมูลแรงงานที่เหมาะสม ที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และสามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการแรงงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
คณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “คุณค่าการผลิตเพื่อประโยชน์สุขของสังคม: กรณีศึกษาข้าว” ทั้งนี้มุ่งสร้างดัชนีวิเคราะห์คุณค่าของอุตสาหกรรมตัวอย่าง โดยใช้ ข้าวเป็นกรณีศึกษา โดยวิเคราะห์การผลิตและบริการตลอดเส้นทาง ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลิตและการจัดการในทุกกิจกรรม ทั้งกิจกรรมพื้นฐานและกิจกรรมสนับสนุน ไปจนถึงผู้บริโภค เพื่อหาคำตอบว่า สุดท้ายแล้วผลของการผลิตสินค้า/บริการ จนถึงการบริโภคสินค้า/บริการดังกล่าวนั้น ที่มีต่อสังคมทั้งหมดก่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน โดยคำนวณจากมูลค่าที่เป็นตัวเงิน อีกทั้งการผลิตดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคมส่วนรวมหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด เพื่อเป็นฐานในการประเมินคุณค่าอุตสาหกรรม ทั้งนี้โจทย์วิจัยประกอบด้วย 1) การประกอบการและการผลิตข้าวในระบบเศรษฐกิจ ส่งผลอย่างไรต่อมูลค่าที่เกิดขึ้นกับสังคมโดยรวม (social net benefit) 2) ในระบบการผลิตดังกล่าว มีส่วนสร้างประโยชน์สุขแก่สังคมโดยรวมเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด และ 3) รูปแบบของการประกอบการและเงื่อนไขการผลิตข้าวอย่างไรที่จะนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่สมดุลขึ้น และก่อประโยชน์สุขต่อประชาสังคมมากขึ้น