การศึกษาระบบการผลิตข้าว กลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษามี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืนห้วยทรายตำบลห้วยทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านใหม่ราษฎร์บำรุง ตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย ข้อมูลทุติยภูมิจากการทบทวนเอกสารเพื่อทราบกิจกรรมเศรษฐกิจหลัก สถานการณ์ด้านการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตที่ใช้ในแต่ละกิจกรรม รวมถึงข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่ศึกษา และข้อมูลปฐมภูมิ จากการจัดเวที และจากการสำรวจภาคสนาม โดยใช้แบบสอบถามเพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการบริหารจัดการ ความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง 15 ประการ และการพัฒนาที่ยั่งยืน (ทุน 4 ประการ) ซึ่งแยกเป็นการประเมินในระดับกลุ่มและการประเมินในระดับสมาชิก

     ผลการศึกษาพบว่า ด้านการบริหารจัดการ 7 ประการในระดับกลุ่มมีคะแนนการปฏิบัติอยู่ในระดับพอใช้ ซึ่งต่ำกว่าในระดับสมาชิกที่มีคะแนนอยู่ในระดับปานกลาง โดยกลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืนห้วยทรายมีการบริหารจัดการส่วนใหญ่ดีกว่ากลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านใหม่ราษฎร์บำรุง และในระดับสมาชิกมีการปฏิบัติอยู่ในระดับเดียวกันทั้งสองกลุ่ม ยกเว้นด้านการบริหารจัดการสวัสดิการชุมชนที่กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านใหม่ราษฎร์บำรุงมีคะแนนที่ดีกว่า ด้านความสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 15 ประการ ในระดับกลุ่มพบว่า การปฏิบัติโดยรวมมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลางทั้งจากการประเมินตนเองและเชิงประจักษ์ ในระดับสมาชิกมีคะแนนการปฏิบัติในระดับดี สมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านใหม่ราษฎร์บำรุงมีการปฏิบัติในระดับที่ดีกว่าในเรื่อง การใช้กระบวนการหรือเทคนิคการผลิตระหว่างแรงงานและเทคโนโลยีที่เหมาะสม ขณะที่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืนห้วยทรายมีการปฏิบัติในระดับที่ดีกว่าในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีที่ถูกหลักวิชาการและมีขนาดที่เหมาะสม และมีขนาดการผลิตที่สอดคล้องกับความสามารถในการบริหารจัดการ ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ทุน 4 ประการ) กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางเช่นเดียวกับระดับสมาชิก โดยทุนทางสังคมและทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีคะแนนการปฏิบัติอยู่ในระดับดี ส่วนการพัฒนาทุนมนุษย์อยู่ในระดับปานกลางและทุนกายภาพอยู่ในระดับที่ต่ำ เมื่อพิจารณารายกลุ่ม พบว่า กลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านใหม่ราษฎร์บำรุงมีคะแนนทุนทางสังคมสูงกว่ากลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืนห้วยทราย ขณะที่กลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืนห้วยทรายมีคะแนนทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสูงกว่า ในระดับสมาชิก พบว่า สมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านใหม่ราษฎร์บำรุงมีคะแนนด้านทุนมนุษย์และทุนทางกายภาพอยู่ในระดับที่ดีกว่าสมาชิกกลุ่มเกษตรกรรมยั่งยืนห้วยทราย

     การศึกษาทั้ง 3 ด้าน พบว่าในระดับกลุ่ม ด้านการบริหารจัดการ 7 ประการและความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง 15 ประการ ในระดับกลุ่มมีคะแนนการปฏิบัติระดับในระดับพอใช้และปานกลางตามลำดับ ขณะที่ในระดับสมาชิกมีคะแนนการปฏิบัติในระดับที่ดีกว่า เนื่องจากกิจกรรมการมีส่วนร่วมเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการดำเนินการของกลุ่ม เมื่อกลุ่มตัวอย่างไม่มีการผลิตและการจ้างแรงงาน จึงทำให้ไม่มีการจัดการในลักษณะที่เป็นองค์รวม ทั้งนี้ในปัจจุบันกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มมีโครงการพัฒนาตนเองจากการสนับสนุนของโครงการวิจัยฯ ซึ่งจะช่วยเสริมให้กลุ่มตัวอย่างมีการพัฒนาด้านการบริหารจัดการที่ดีขึ้นได้ ส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน (ทุน 4 ประการ) ในระดับกลุ่มและระดับสมาชิก ทุนมนุษย์และทุนทางกายภาพ มีคะแนนค่อนข้างต่ำกว่า เนื่องจากเน้นใช้แรงงานตนเองและไม่มีการสะสมทุนที่เป็นเครื่องมือเครื่องจักรอุปกรณ์ในการผลิตมากนัก ซึ่งควรมีการพัฒนาในประเด็นดังกล่าวต่อไป