การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางพัฒนาประเทศ มีความต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันซึ่งอยู่ในระยะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) อันมุ่งสู่การสร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันภายใต้แนวปฏิบัติของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การศึกษาวิจัยเพื่อสร้างฐานความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงจำเป็นต้องบูรณาการในหลายมิติ ซึ่งหนึ่งในฐานความรู้ที่จำเป็นต้องได้รับการค้นคว้าหาคำตอบ คือ การบริหารจัดการระบบการผลิตในท้องถิ่นตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง การศึกษาวิจัยนี้จึงมุ่งให้ได้ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการจัดการการผลิตและการบริหารเชิงธุรกิจบนฐานอัตลักษณ์ ที่สร้างความยั่งยืนให้แก่ระบบการผลิตเกษตรและวิสาหกิจชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
การศึกษาครั้งนี้มุ่งเน้นศึกษากิจกรรมการผลิตลำไย เนื่องจากเป็นหนึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สะท้อนอัตลักษณ์ของเขตเศรษฐกิจวัฒนธรรมในภาคเหนือตอนบนได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้รับเลือกเป็นพื้นที่ศึกษาด้วยความสอดรับกับกิจกรรมเศรษฐกิจหลักข้างต้นการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างในกิจกรรมการผลิตลำไย เพื่อการเปรียบเทียบความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างระบบการผลิตลำไยเชิงเดี่ยว (สหกรณ์ผู้ผลิตและตลาดกลางการเกษตรดอยเต่า จำกัด) กับระบบที่ผลิตลำไยควบคู่กับการผลิตพืชอื่น ๆ อันประกอบด้วย ระบบลำไย – ผักปลอดสารพิษ (กลุ่มปุ๋ยหมักอินทรีย์ชีวภาพ (พัฒนาหนองโป่ง)) และระบบลำไย – พริก – มะเขือ (กลุ่มปุ๋ยหมักอินทรีย์ฟอสเฟตบ้านแคว) รวมทั้งเปรียบเทียบความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงระหว่างระบบการผลิตลำไยแบบใช้สารเคมีหรืออยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนสู่การลด ละ เลิกใช้สารเคมี แบบปลอดภัยจากสารพิษ และแบบปลอดสารพิษ ท่ามกลางผลกระทบที่รุนแรงจากกระแสโลกาภิวัฒน์และเขตการค้าเสรี
การวิเคราะห์การประเมินตนเองเพื่อชี้วัดความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย 3 หลักเกณฑ์ ได้แก่ กระบวนการบริหารจัดการ 7 ประการ ความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง 15 ประการ การพัฒนาที่ยั่งยืนของทุน 4 ประการ และการประเมินความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเชิงประจักษ์ เพื่อนำไปพิจารณาเปรียบเทียบกับการประเมินตนเองของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งจะมีมุมมองบางแง่มุมสะท้อนผ่านคะแนนการประเมินเชิงประจักษ์ที่กลุ่มอาจไม่ได้ตระหนักถึง ซึ่งในการศึกษานี้ได้ให้มีการประเมินตนเองใน 2 ระดับ คือ ระดับกลุ่มและระดับสมาชิก ประกอบกับการวิเคราะห์โดยใช้การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นเครื่องมือ
การประเมินตนเองเพื่อชี้วัดความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง ทำได้โดยกลุ่มตัวอย่างในระบบการผลิตลำไยจะให้คะแนนวิธีปฏิบัติของตนเองระหว่างช่วง 0 - 5 คะแนน โดยพิจารณาคะแนนเฉลี่ยรายกลุ่มเทียบกับเกณฑ์คะแนนเฉลี่ยของแต่ละองค์ประกอบ จากนั้นจึงวิเคราะห์ในระดับการปฏิบัติ โดยมีการแบ่งช่วงชั้นการอธิบายผลดังนี้ ระดับคะแนน 0.00 - 1.49 ต้องปรับปรุง 1.50 - 2.49 พอใช้ 2.50 - 3.49 ปานกลาง 3.50 - 4.49 ดี 4.50 - 5.00 ดีมาก
ภาพรวมของคะแนนการประเมินตนเองการบริหารจัดการทั้ง 7 ประการของกลุ่มตัวอย่างในระบบการผลิตลำไยอยู่ในระดับพอใช้ (2.34) โดยมีการบริหารจัดการ 4 ด้านอยู่ในระดับปานกลาง คือ ด้านการผลิต ด้านองค์กร ด้านการเงิน และด้านวัตถุดิบ ส่วนการบริหารจัดการอีก 2 ด้านอยู่ในระดับพอใช้ คือ การบริหารจัดการตลาดและสวัสดิการชุมชน มีเพียงการบริหารจัดการแรงงานและการจ้างงานเท่านั้นที่อยู่ในระดับต้องปรับปรุง ซึ่งเป็นเพราะทั้งสามกลุ่มตัวอย่างไม่มีแผนการจ้างงานและนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เป็นผลจากกลุ่มตัวอย่างไม่มีแผนการผลิตที่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถวางแผนการใช้แรงงานให้เหมาะสม
ส่วนระดับสมาชิกมีคะแนนเฉลี่ยโดยรวมจัดอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง (2.86) มีการบริหารจัดการทั้งหมด 6 ด้านที่จัดอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง โดยมีการบริหารจัดการด้านองค์กร ด้านการผลิต ด้านการจ้างงาน และด้านการจัดหาวัตถุดิบที่มีคะแนนเฉลี่ยมากกว่าเกณฑ์ (3.41, 3.00, 3.23 และ 2.90 ตามลำดับ) ส่วนการบริหารจัดการด้านการเงินและด้านสวัสดิการชุมชมนั้น แม้จะจัดว่ามีคะแนนการประเมินตนเองอยู่ในระดับปานกลาง แต่มีคะแนนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวม (2.50 และ 2.68 ตามลำดับ) การบริหารจัดการด้านการตลาดมีคะแนนเฉลี่ยน้อยที่สุด (2.30) จัดอยู่ในระดับการปฏิบัติพอใช้
เมื่อพิจารณาตามรายกลุ่มพบว่าโดยภาพรวมแล้วระดับสมาชิกมีคะแนนการประเมินตนเองจัดอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง โดยทุกกลุ่มมีคะแนนเฉลี่ยของการบริหารจัดการด้านองค์กรสูงสุด โดยสมาชิกให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ความสามารถของตนอย่างสม่ำเสมอเมื่อมีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาความรู้จากการอ่าน การรับฟังข่าวสาร หรือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ผลิตลำไยด้วยกัน สมาชิกให้ความสำคัญกับความสามารถในการเรียนรู้เพราะเป็นช่องทางของการได้รับความรู้ ซึ่งการมีองค์ความรู้ที่หลากหลายย่อมทำให้สามารถเลือกประยุกต์ใช้ได้อย่างสอดคล้องกับบริบทของตนเอง
เมื่อพิจารณาตามเงื่อนไขความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง 15 ประการ พบว่ามีองค์ประกอบ 4 ด้านที่น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีได้ ได้แก่ องค์ประกอบ (1) การใช้เทคโนโลยีที่ถูกหลักวิชาการ และมีขนาดที่เหมาะสม (5) การใช้กระบวนการ/เทคนิคการผลิตระหว่างแรงงานและเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับสมาชิกที่มีเป้าหมายเพื่อการสร้างรายได้แก่ครอบครัว จำเป็นต้องเลือกใช้เทคโนโลยีและเทคนิคที่เหมาะสมกับทุนและความสามารถของตนเอง (10) การมีความซื่อสัตย์สุจริตในการประกอบการ ไม่เอาเปรียบผู้จำหน่ายวัตถุดิบ และองค์ประกอบ (6) การมีขนาดการผลิตที่สอดคล้องกับความสามารถในการบริหารจัดการ ซึ่งการมีขนาดการผลิตที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการผลิตในระดับสมาชิก เพราะจำเป็นต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ทั้งด้านแรงงานและทุนทางกายภาพ
ในการพัฒนาที่ยั่งยืน (ทุน 4 ประการ) พบว่า ระบบการผลิตลำไยมีคะแนนเฉลี่ยด้านทุนทางสังคมมากที่สุด จัดอยู่ในเกณฑ์การปฏิบัติระดับดี (4.04) เนื่องจากเป็นสังคมเกษตรที่สมาชิกภายในชุมชนมีการผลิตและปัญหาคล้ายคลึงกัน ประกอบกับการมีความสนิทสนมกลมเกลียวกันหรือเป็นเครือญาติ ทำให้มีการรวมตัวเป็นองค์กรโดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของสมาชิกดีขึ้นผ่านกิจกรรมการผลิตและกิจกรรมการตลาดร่วมกัน ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่สะท้อนความสัมพันธ์เกื้อกูลกันในชุมชนได้เป็นอย่างดี แนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการพัฒนาทุนทางสังคมเป็นสิ่งที่ระบบการผลิตลำไยมีความโดดเด่น การช่วยเหลือเกื้อกูลกันท่ามกลางปัญหาที่รุมเร้าแสดงถึงความพยายามในการพึ่งพากันและกัน ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างสมาชิกภายในชุมชน รวมไปถึงความร่วมมือในระดับต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับการอยู่รอดในสภาวะปัจจุบัน
รองลงมาเป็นทุนมนุษย์ที่มีคะแนนเฉลี่ยจัดอยู่ในระดับการปฏิบัติปานกลาง (2.95) ผู้นำเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการรวมตัวเป็นองค์กรและความสามารถของผู้นำเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลอย่างมากต่อความมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านต่างๆ ก่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรตลอดจนการพัฒนาความรู้ของสมาชิกตามลำดับ
ส่วนการพัฒนาทุนทางสิ่งแวดล้อมและทุนทางกายภาพนั้นจัดอยู่ในระดับพอใช้และต้องปรับปรุง ตามลำดับ จำเป็นต้องมีแผนการจัดการที่ชัดเจน อาจมีการวางแผนการใช้ทรัพยากรในชุมชนร่วมกันเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในอนาคต และการตั้งเป้าหมายเพื่อสะสมทุนอย่างเป็นรูปธรรมอาจต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาความรู้ด้านการบริหารจัดการการเงินให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การสะสมทุนทั้ง 4 ประการต้องเป็นไปอย่างสมดุลและคำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวม เพราะความยั่งยืนของกลุ่ม/สหกรณ์จะต้องควบคู่ไปกับความเข้มแข็งของชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับบทบาทของกลุ่มตัวอย่างในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ประเด็นสำคัญเป็นบทบาทในการสร้างโอกาสเกี่ยวกับการเรียนรู้ให้กับทั้งสมาชิกองค์กรและสมาชิกภายในชุมชน วิสาหกิจชุมชนทั้ง 2 กลุ่มเน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตปุ๋ยหมัก ปรับเปลี่ยนจากแนวทางการผลิตเดิมที่เน้นการใช้สารเคมีมาเป็นการผลิตลำไยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสามารถลดต้นทุนการผลิตไปในขณะเดียวกัน ซึ่งแตกต่างออกไปจากสหกรณ์ผู้ผลิตและตลาดกลางการเกษตรดอยเต่า จำกัด ที่มีบทบาทในการเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างตลาดกลางที่ผู้ผลิตสามารถจำหน่ายผลผลิตในราคาที่น่าพอใจและสอดคล้องกับความต้องการผู้ประกอบการ การมีทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลาย ส่งผลให้สหกรณ์เป็นเหมือนศูนย์กลางภายในชุมชนที่สมาชิกสามารถเข้ามาเรียนรู้การผลิตลำไยแบบองค์รวม เพื่อที่จะสามารถนำไปความรู้ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับตนเอง
เมื่อพิจารณาประเด็นด้านการบริหารจัดการ หลักเศรษฐกิจพอเพียงและทุน 4 ประการร่วมกัน พบว่า ในระดับกลุ่มตัวอย่างมีเพียงการบริหารจัดการแรงงานและการจ้างงานเท่านั้นที่อยู่ในระดับต้องปรับปรุง เนื่องจากไม่มีแผนการจ้างงานและนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เป็นผลจากกลุ่มตัวอย่างไม่มีแผนการผลิตที่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถวางแผนการใช้แรงงานให้เหมาะสมไปด้วย ปัจจัยสำคัญที่จำเป็นต้องปรับปรุงคือ ความรู้ความสามารถของทุนมนุษย์ในการบริหารจัดการด้านดังกล่าวและการสะสมทุนทางกายภาพอย่างเพียงพอสำหรับบริหารจัดการการผลิตให้เหมาะสมตามหลักวิชาการ และอย่างยุติธรรมทั้งต่อตนเองและแรงงาน
เมื่อพิจารณาระดับสมาชิกพบว่าการบริหารจัดการด้านการผลิตและการจัดหาวัตถุดิบเป็นสิ่งที่สมาชิกของทุกกลุ่มจำเป็นต้องมีการวางแผนให้เป็นลายลักษณ์อักษรที่แน่นอน เพื่อที่จะสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยดำเนินการผลิตได้อย่างรอบคอบ รวมทั้งสามารถลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดแคลนวัตถุดิบบางอย่าง ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติงานจะต้องมีความรู้และความเข้าใจเป็นอย่างดีเกี่ยวกับกระบวนการผลิตระหว่างเทคโนโลยีและแรงงาน ประกอบกับมีทุนทางกายภาพอย่างเพียงพอเพื่อดำเนินการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและวัตถุดิบที่เหมาะสมทั้งในด้านขนาดและคุณภาพตามหลักวิชาการ ทั้งนี้รวมไปถึงการวางแผนหรือกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรร่วมกันภายในพื้นที่ เป็นความพยายามในการใช้ทุนทางสิ่งแวดล้อมอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อความยั่งยืนในอนาคต จากการศึกษาของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนกลุ่มในระบบผลิตลำไย นำไปสู่ข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้
1. แม้ว่าวิสาหกิจชุมชนจะเป็นองค์กรขนาดเล็ก แต่ความเข้าใจในด้านการบริหารจัดการในด้านการวางแผนงานยังเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อกลุ่มจะมีหลักในการวางกรอบการทำงานได้ชัดเจน โดยเฉพาะในด้านการจัดหาวัตถุดิบเพื่อผลิตปุ๋ย การจัดจำหน่ายและการทำบัญชี เพื่อให้เกิดความชัดเจนแก่สมาชิกทั้งในปัจจุบันและอนาคตซึ่งกิจกรรมของกลุ่มมีแนวโน้มจะขยายตัวต่อไป นอกจากนี้ ควรส่งเสริมความสามารถในการคำนวณต้นทุนที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์
2. วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตปุ๋ยหมักทั้ง 2 กลุ่ม ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการตรวจสอบคุณภาพธาตุอาหารสำคัญภายในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อยู่ ควรได้รับการพัฒนาต่อยอดเกี่ยวกับความรู้เฉพาะด้านในการผลิตปุ๋ยหมัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มปุ๋ยหมักอินทรีย์ฟอสเฟตบ้านแคว
3. ในด้านการตลาด ควรมีกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการร่วมมือระหว่างเครือข่ายการตลาดอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความคิดเห็นต่างๆ นำไปสู่การร่วมมือกันอย่างมั่นคงและการเพิ่มความพยายามเข้าร่วมกับภาครัฐในการเสนอแนวคิดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์น่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสมสำหรับการขยายตลาดลำไยในอนาคตต่อไป
4. ในด้านการผลิต ทุกกลุ่มควรมีแผนการผลิตที่ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้วางแผนการใช้แรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับกิจกรรมของกลุ่ม ควรมีการปลูกพืชหรือกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมจากระบบการผลิตลำไย ลดการพึ่งพาผลผลิตเพียงอย่างเดียว และควรมีแผนการจัดการผลิตที่คำนึงถึงทุนทางสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจนมากขึ้น เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในอนาคต
5. การสร้างเครือข่ายวัตถุดิบน่าจะเป็นการลดความเสี่ยงของการขาดแคลนวัตถุดิบ ทั้งยังสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพื่อให้ได้วัตถุดิบตรงตามความต้องการ รวมทั้งสามารถศึกษาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเก็บรักษาวัตถุดิบ ทั้งวิธีการเก็บรักษาและลักษณะของโรงเรือนที่เหมาะสม
6. ในด้านการมีส่วนร่วมกับชุมชนนั้น ทุกกลุ่มควรมีการประสานงานภายในชุมชนถึงสวัสดิการที่สำคัญและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนที่สามารถเกื้อกูลกันได้ มีการสร้างความเข้าใจให้สมาชิกเห็นความสำคัญของการจัดสรรสวัสดิการชุมชน เป็นสิ่งที่จะทำให้ชุมชนมีความรักและความสามัคคีระหว่างกันมากขึ้น