โครงการ การวิจัยและพัฒนาระบบการผลิตเกษตรและวิสาหกิจชุมชนตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง เป็นโครงการที่สนองตอบต่อนโยบายรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 มาจนถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับปัจจุบัน โดยมีคำถามวิจัยที่มุ่งหาปัจจัยที่เป็นเหตุให้ระบบการผลิตของวิสาหกิจมีความยั่งยืนแตกต่างกัน และหาแนวทางการบริหารจัดการที่จะสามารถพัฒนาตนเองได้บนฐานอัตลักษณ์ ตลอดจนวิถีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best practice) ของระบบการผลิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการจัดการการผลิต และการบริหารเชิงธุรกิจบนฐานอัตลักษณ์ที่สร้างความยั่งยืนให้แก่ระบบผลิตเกษตรและวิสาหกิจชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ระบบผลิตที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนและเสริมสร้างความสามารถของชุมชนท้องถิ่น ในการผลิตสินค้าบนฐานอัตลักษณ์และการจัดการธุรกิจชุมชนในลักษณะเศรษฐกิจพอเพียง

     กรอบแนวคิดการวิจัยอาศัยเขตเศรษฐกิจวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เป็นตัวกำหนดระบบผลิต โดยการศึกษาครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา และน่าน ซึ่งกรณีศึกษาระบบผลิตโคนม เป็นส่วนหนึ่งของระบบผลิตที่โครงการฯ ได้ทำการศึกษา ทั้งนี้การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างในระดับสหกรณ์พิจารณาจากขนาด (หมายรวมถึงสินทรัพย์)และความก้าวหน้าของกิจการ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ถูกคัดเลือก คือ สหกรณ์โคนมการเกษตรไชยปราการ จำกัด สหกรณ์โคนมแม่วาง จำกัด ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และสหกรณ์โคนมบ้านโฮ่งสัมพันธ์ ๑ จำกัด ในพื้นที่อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพน ส่วนในระดับฟาร์มใช้ขนาดการผลิตเป็นเกณฑ์ โดยคัดเลือกจากสหกรณ์ตัวอย่างดังกล่าว

     การศึกษาประกอบด้วยการจัดเวทีแลกเปลี่ยนรู้ระบบผลิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงจำนวน 3 ครั้ง การดำเนินโครงการพัฒนาตนเองเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการบริหารจัดการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บนฐานอัตลักษณ์ การสัมภาษณ์เชิงลึกและการวิเคราะห์การประเมินตนเอง เพื่อชี้วัดความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้ 3 หลักเกณฑ์ คือ การบริหารจัดการ 7 ประการ ความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง 15 ประการ และการพัฒนาที่ยั่งยืนของทุน 4 ประการ รวมถึงการประเมินความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงจากนักวิจัย โดยประเมินทั้งในระดับสหกรณ์และระดับสมาชิก (ฟาร์ม) ทั้งนี้การวิเคราะห์อาศัยการสัมภาษณ์เชิงลึกโดยแบบสอบถาม

     การศึกษาข้อมูลพื้นฐานแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของระบบการผลิตกับภูมิสังคม ซึ่งพบว่าพื้นที่ตัวอย่างประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามโครงสร้างเศรษฐกิจพื้นถิ่นที่มีผลจากลักษณะทางกายภาพและภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน พื้นที่อำเภอไชยปราการได้แสดงให้เห็นศักยภาพของพื้นที่ในการเลี้ยงโคนม ขณะที่พื้นที่อำเภอแม่วางเป็น Second best ส่วนพื้นที่อำเภอบ้านโฮ่งสะท้อนถึงสภาพพื้นที่จะไม่เอื้อต่อการเลี้ยงโคนม แต่อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดโดยเปรียบเทียบ และเนื่องจากการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพบนพื้นฐานของการนำความรู้ทางวิชาการมาใช้ในการผลิตโดยตรง และไม่ได้เป็นอาชีพดั้งเดิมของคนในพื้นที่ทั้ง 3 แห่ง จึงไม่มีความชัดเจนในเรื่องการนำภูมิปัญญามาปรับใช้ รวมถึงความเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมทางสังคมที่มีอยู่เดิม

     การวิเคราะห์การบริหารจัดการที่ดี ซึ่งแบ่งการวิเคราะห์เป็น 7 ด้าน คือ 1)การบริหารองค์กร 2)การบริหารตลาด 3)การบริหารการเงิน 4)การบริหารการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี 5)การบริหารการจ้างงาน 6)การบริหารวัตถุดิบ และ7)การบริหารสวัสดิการชุมชน ในแต่ละด้านแบ่งการวิเคราะห์เป็น 2 ระดับ คือ ระดับสหกรณ์และระดับฟาร์ม ซึ่งผลที่ได้ในระดับสหกรณ์ ชี้ให้เห็นศักยภาพของสหกรณ์โคนมการเกษตรไชยปราการ จำกัด ที่เป็น Best practice ของกลุ่มตัวอย่างในทุกๆ ด้าน ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.92 การปฏิบัติอยู่ในระดับดี ทั้งการบริหารจัดการองค์กร (ความพร้อมของบุคลากร ทักษะความรู้ ประสบการณ์) การเป็นตัวอย่างที่ดีของการบริหารจัดการด้านการตลาด (ธุรกิจหลากหลาย ทำให้ลดความเสี่ยง ความสามารถในการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์) การบริหารการเงินที่ดี โดยพิจารณาจากผลการดำเนินงานที่มีผลกำไรเพียงพอสำหรับจ่ายปั่นผลตามหุ้นและเฉลี่ยคืนตามธุรกิจ ในขณะที่สหกรณ์โคนมแม่วาง จำกัด มีกำไรเพียงเล็กน้อย ขณะที่สหกรณ์โคนมบ้านบ้านโฮ่งสัมพันธ์ ๑ จำกัด ขาดทุนจากการดำเนินงาน นอกจากนี้สหกรณ์โคนมการเกษตรไชยปราการ จำกัด ยังเป็นสหกรณ์เพียงแห่งเดียวในกลุ่มตัวอย่างที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP มีการจัดจ้างพนักงานได้เพียงพอกับธุรกรรม และเป็นตัวอย่างที่ดีของการบริหารวัตถุดิบ (การควบคุมคุณภาพน้ำนมดิบ รวมถึงการส่งเสริมการ ปลูกหญ้าอาหารสัตว์แก่เกษตรกรในพื้นที่) ส่วนด้านบริหารสวัสดิการชุมชน ซึ่งไม่แตกต่างกันในแง่ของนโยบายที่ทุกสหกรณ์จำเป็นต้องจัดสรรผลกำไรจากการดำเนินงานส่วนหนึ่งเป็นทุนสวัสดิการและสังคม รวมถึงทุนสาธารณประโยชน์ เพียงแต่สหกรณ์โคนมการเกษตรไชยปราการ จำกัด เป็นเพียงแห่งเดียวที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะจัดสรรสวัสดิการได้ทั้งสองส่วน นอกจากนี้การดำเนินงานในรูปแบบสหกรณ์โดยหลักการ หากสหกรณ์ทั้ง 3 แห่ง สามารถปฏิบัติอย่างเคร่งครัดก็ถือได้ว่าสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะหลักการพึ่งตนเองและการบริหารงานที่เป็นธรรมาภิบาล

     การวิเคราะห์การบริหารจัดการที่ดีในระดับฟาร์ม พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันด้านการบริหารองค์กร (การให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้และเพิ่มทักษะในการบริหารงาน) การจำหน่ายน้ำนมดิบของทุกฟาร์มผ่านสหกรณ์ ทำให้การบริหารการตลาดพิจารณาจากการพัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบ ซึ่งฟาร์มตัวอย่าง จากสหกรณ์โคนมการเกษตรไชยปราการ จำกัด มีแรงกระตุ้นอันเกิดจากสหกรณ์ใช้เกณฑ์การผ่านมาตรฐานฟาร์มเป็นเงื่อนไขของการปรับราคารับซื้อ นอกจากนี้พบว่าฟาร์มตัวอย่างจากสหกรณ์โคนมการเกษตรไชยปราการ จำกัด เป็นตัวอย่างที่ดีของการบริหารจัดการด้านการเงิน เนื่องจากเกือบทั้งหมดมีการจัดทำบัญชีฟาร์ม และ 8 ใน 9 ฟาร์มมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน ส่วนฟาร์มตัวอย่างจากสหกรณ์โคนมบ้านโฮ่งสัมพันธ์ ๑ จำกัด มีกำไรสุทธิ 5 ฟาร์ม ขณะที่ฟาร์มตัวอย่างจากสหกรณ์โคนมแม่วางจำกัด มีเพียงฟาร์มเดียวที่มีกำไรสุทธิ นอกจากนี้ฟาร์มตัวอย่างจากสหกรณ์โคนมการเกษตรไชยปราการ จำกัด ยังเป็นตัวอย่างทีดีด้านการผลิตจากประสบการณ์เลี้ยงที่ยาวนาน มีสัดส่วนของโครีดต่อโคกินเปล่าสูงที่สุดในกลุ่ม และทุกแห่งผ่านการรับรองมาตรฐานฟาร์ม อีกทั้งมีการปลูกหญ้าอาหารสัตว์ใช้เอง ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้มีต้นทุนน้ำ นมดิบต่อกิโลกรัมต่ำที่สุดในกลุ่ม อย่างไรก็ตามฟาร์มที่มีการจ้างงาน ไม่มีความแตกต่างด้านการบริหารการ จ้างงาน กล่าวคือมีการจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการที่เป็นธรรม เอื้อเฟื้อต่อแรงงานจ้าง นอกจากนี้ฟาร์มตัวอย่างทุกแห่งยังให้ความสำคัญและสนับสนุนสวัสดิการชุมชนทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ตามโอกาสที่อำนวย

     การปฏิบัติของสหกรณ์แสดงถึงความสอดคล้องกับองค์ประกอบความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีการปฏิบัติดีถึงดีมากใน 9 องค์ประกอบ แต่องค์ประกอบที่ทุกสหกรณ์ต้องคำนึงถึง คือ การบริหารจัดการที่ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เน้นพึ่งทุนจากภายในมากขึ้น ลดการสร้างหนี้ และกระจายความเสี่ยงโดยสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ส่วนในระดับฟาร์มที่ให้คะแนนการปฏิบัติตามองค์ประกอบความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงในระดับดีถึงดีมากใน 6 องค์ประกอบ โดยองค์ประกอบที่ฟาร์มตัวอย่างต้องตระหนัก คือ การให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรของกิจการอยู่เสมอ รักษาคุณภาพน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐาน ซึ่งแสดงถึง ความซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค มีการจัดการความรู้แบบบูรณาการเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น การจัดทำบัญชีฟาร์มประกอบแผนดำเนินงาน ตลอดจนพึ่งทุนของตนเองเป็นหลัก โดยไม่ก่อหนี้เพิ่มโดยไม่จำเป็น

     การประเมินการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยพิจารณาจากทุนมนุษย์ ทุนกายภาพ ทุนทางสังคม และทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า ทั้งในระดับสหกรณ์และระดับฟาร์มให้คะแนนการปฏิบัติที่ดีในด้านทุนทางสังคมแต่อ่อนด้วยด้านทุนกายภาพ โดยเฉพาะการสะสมทุนที่เป็นตัวเงิน โดยสหกรณ์โคนมการเกษตรไชยปราการ จำกัดให้คะแนนการปฏิบัติสูงที่สุดในกลุ่มเช่นเดียวกับในระดับฟาร์ม ด้วยคะแนนปฏิบัติในระดับปานกลาง ส่วนสหกรณ์อีก 2 แห่งให้คะแนนการปฏิบัติใกล้เคียงกันในระดับพอใช้เช่นเดียวกับในระดับฟาร์ม นอกจากนี้ยังพบว่าการพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรที้งในระดับสหกรณ์และระดับฟาร์ม และการสะสมทุนที่เป็นตัวเงินอย่างเพียงพอ เป็นสิ่งจำเป็น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

     การวิเคราะห์เชิงบูรณาการการจัดการ แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและทุน เป็นการวิเคราะห์การบริหารจัดการ 7 ด้าน พร้อมกับการพิจารณาความสอดคล้องกับองค์ประกอบความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง 15 ประการ และเกณฑ์ประเมินการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อวัดระดับการพัฒนาและปัจจัยที่มีผลต่อความยั่งยืน โดยพบว่าสหกรณ์โคนมการเกษตรไชยปราการ จำกัด มีการปฏิบัติที่ดีจากการบริหารงานอันเกิดจากความได้เปรียบด้านทุนมนุษย์ ธุรกิจหลากหลายที่ช่วยกระจายความเสี่ยง เช่นเดียวกับสหกรณ์โคนมแม่วาง ขณะที่สหกรณ์โคนมบ้านโฮ่งสัมพันธ์ ๑ จำกัด มีความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจหลักเพียงแค่การรวบรวมน้ำนม ดิบ นอกจากนี้สหกรณ์โคนมการเกษตรไชยปราการ จำกัด มีการบริหารด้านการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP มีการจ้างงานแก่คนในชุมชน ตลอดจนสามารถสร้างผลกำไรและเพียงพอจัดสรรเป็นสวัสดิการชุมชน แต่ทั้งหมดยังมีจุดอ่อนที่ยังขาดการสะสมทุนที่เป็นตัวเงินที่ช่วยลดความเสี่ยงและเสริมสภาพคล่องของกิจการ ส่วนในระดับฟาร์ม การรักษาคุณภาพน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐานแสดงถึงการมี คุณธรรม ความได้เปรียบด้านศักยภาพของพื้นที่ รวมถึงการจัดทำบัญชีฟาร์ม บันทึกรับจ่ายและนำไปใช้ในการวางแผนดำเนินงาน และแผนการผลิตที่แสดงถึงการบูรณาการความรู้ที่นำมาปรับใช้ในการดำเนินงาน อีกทั้งมีสัดส่วนของโครีดต่อโคกินเปล่าสูง ทำให้ฟาร์มตัวอย่างสหกรณ์โคนมการเกษตรไชยปราการ จำกัด มีภูมิคุ้มกันมากกว่าฟาร์มตัวอย่างอื่น แสดงถึงการปฏิบัติที่สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

     การประเมินปัญหาและอุปสรรคการพัฒนาของสหกรณ์ตัวอย่างทั้ง 3 แห่ง ทำให้ทราบข้อเด่นเพื่อเสนอแนะเพื่อการขยายผล เช่น การส่งเสริมการจัดการความรู้แก่พนักงาน การสนับสนุนโครงการนาหญ้า และการเข้มงวดต่อการตรวจสอบคุณภาพ เพื่อรักษาและยกระดับมาตรฐานการผลิตให้สูงขึ้น ของสหกรณ์โคนมการเกษตรไชยปราการ จำกัด การส่งเสริมปลูกพืชอาหารสัตว์ในพื้นที่สหกรณ์โคนมแม่วาง จำกัด ส่วนข้อด้อยที่เหมือนกันของทั้ง 3 สหกรณ์ คือ มีความเสี่ยงจากจุดอ่อนด้านการบริหารการเงิน เช่นการมีสภาพคล่องต่ำ มีอัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์สูง ซึ่งการส่งเสริมการระดมทุนเพิ่มจะช่วยลดการพึ่งพิงทุนภาย นอก ส่วนข้อด้อยด้านศักยภาพพื้นที่ของสหกรณ์โคนมบ้านโฮ่งสัมพันธ์ ๑ จำกัด สามารถแก้ไขด้วยแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระดับฟาร์ม เช่น การคัดทิ้งแม่โคคุณภาพต่ำ เป็นต้น

     ข้อเสนอแนะอื่นๆ ในระดับสหกรณ์ ได้แก่ การสร้างมาตรการที่รัดกุมในการปล่อยสินเชื่อ มาตรการปรับลค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองที่ไม่จำเป็น การลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่จำเป็นที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำนมดดิบโดยตรง การส่งเสริมการเลี้ยงโคนมให้มากขึ้นให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยเฉพาะ สหกรณ์โคนมแม่วาง จำกัดที่มีแนวโน้มของสมาชิกผู้เลี้ยงโคนมลดลง การส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ตามศักยภาพ ส่วนในระดับฟาร์ม การรักษาคุณภาพน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐานแสดงถึงการไม่เบียดเบียนผู้บริโภค การเน้นใช้เงินทุนตนเองให้มากที่สุด การกู้ยืมจากแหล่งอื่นต้องสามารถชำระคืนได้โดยไม่เดือดร้อน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการปรับปรุงพืชอาหารหยาบ การเลือกสายพันธ์ที่เหมาะสม หรือการปรับสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงให้เหมาะสม การจัดทำบันทึกรับจ่ายหรือจัดทำบัญชี รวมถึงการบริหารจัดการวัตถุดิบตามศักยภาพของพื้นที่ เช่น การปลูกหญ้าใช้เอง(กรณีพื้นที่อุดมสมบูรณ์) รวมซื้อวัตถุดิบเพื่อลดต้นทุนต่อหน่วย การใช้ปัจจัยการผลิตอย่างคุ้มค่า นอกจากนี้ยังต้องมุ่งมั่นในการศึกษา เรียนรู้เทคนิคการบริหารจัดการ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างสม่ำเสมอ พื่อสร้างภูมิคุ้มกัน