กิจกรรมทางเศรษฐกิจหนึ่งที่สะท้อนอัตลักษณ์ของเขตเศรษฐกิจวัฒนธรรมในภาคเหนือตอนบนได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ได้เลือกกลุ่มตัวอย่างจำนวน 4 กลุ่มตัวอย่าง ในสามจังหวัด ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนข้าวแต๋นน้ำแตงโมอำพัน อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเกาะคา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง กลุ่มแปรรูปมะไฟจีนบ้านกอก อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน และกลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านต้นผึ้ง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เพื่อสร้างฐานความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในระบบการผลิตอาหารแปรรูปพื้นบ้านซึ่งจำเป็นต้องบูรณาการในหลายมิติ หนึ่งในฐานความรู้ที่จำเป็นต้องได้รับการค้นคว้าหาคำตอบ คือ การบริหารจัดการระบบการผลิตในท้องถิ่นตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการจัดการการผลิต และการบริหารเชิงธุรกิจบนฐานอัตลักษณ์ที่สร้างความยั่งยืนให้แก่ระบบการผลิตอาหารแปรรูปพื้นบ้านตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
ประเด็นการศึกษาวิจัยแบ่งได้ 3 ด้าน ได้แก่ 1) การศึกษาถึงการบริหารจัดการที่ดี 2) ความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง และ 3) การพัฒนาที่ยั่งยืน (ทุน 4 ประการ) โดยวิเคราะห์ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการประเมินตนเองของกลุ่มตัวอย่าง ร่วมกับการประเมินความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเชิงประจักษ์ ซึ่งสะท้อนทัศนะบางแง่มุมที่กลุ่มตัวอย่างอาจไม่ได้ตระหนักถึง ในการศึกษานี้ได้ให้กลุ่มตัวอย่างทำการประเมินตนเองใน 2 ระดับ คือ ระดับกลุ่มประเมินตนเองโดยคณะกรรมการประเมินการดำเนินงานของกลุ่ม และระดับสมาชิกที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมของกลุ่มประเมินการดำเนินงานของกลุ่ม ซึ่งผลจากการศึกษาเชิงประจักษ์และการประเมินตนเอง พบว่ากลุ่มตัวอย่างในระบบการผลิตอาหารแปรรูปพื้นบ้านมีการพัฒนาการบริหารจัดการ และการพัฒนาทุน 4 ประการอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับดี
ภาพรวมในด้านการบริหารจัดการที่ดี กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนในด้านการบริหารการเงินสูงที่สุด (3.57 จาก 5 คะแนน) ในขณะที่การบริหารในด้านสวัสดิการชุมชนมีคะแนนต่ำที่สุด โดยการบริหารจัดการด้านอื่นๆ มีคะแนนอยู่ในระดับปานกลาง อย่างไรก็ตามแต่ละกลุ่มตัวอย่างมีการปฏิบัติที่ดี/เป็นเลิศในการบริหารจัดการในหลายด้าน เช่น มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานที่ชัดเจนมากกว่าระบบการผลิตอื่น เนื่องจากเป็นระบบการผลิตที่มีมาตรฐานด้านการผลิต และด้านผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายให้สอดคล้องกับวัตถุดิบในท้องถิ่น และตลาดหลายระดับ เป็นต้น
การปฏิบัติที่สอดคล้องความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ระบบการผลิตอาหารแปรรูปพื้นบ้านมีพื้นฐานคุณธรรมในเรื่องของความซื่อสัตย์เป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ทั้งในระดับกลุ่มและระดับสมาชิก ซึ่งแสดงออกถึงความสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่ชัดเจน ทั้งในการมีความซื่อสัตย์ไม่เอาเปรียบผู้จำหน่ายวัตถุดิบ ผู้บริโภค และแรงงานการผลิตของตนเอง แต่ในเรื่องการพัฒนาความรู้ยังมีคะแนนอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์ประกอบการจัดการความรู้แบบบูรณาการเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งมีคะแนนอยู่ในระดับปานกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับกลุ่มที่ยังไม่สามารถเอื้อประโยชน์ในการเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับสมาชิกได้มากเท่าที่ควร ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในกลุ่มกึ่งชุมชนที่มีคะแนนการจัดการความรู้แบบบูรณาการ และการให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรของกลุ่มที่ต่ำกว่ากลุ่มชุมชนอย่างชัดเจนทั้งจากการประเมินตนเองในระดับกลุ่มและการประเมินเชิงประจักษ์
การพัฒนาที่ยั่งยืน (ทุน 4 ประการ) พบว่า การเป็นกลุ่มอาชีพที่ตั้งอยู่ในชุมชนของกลุ่มอาหารแปรรูปพื้นบ้าน ทำให้เกิดการพัฒนาด้านทุนทางสังคมมากที่สุด แต่เมื่อพิจารณาถึงการพัฒนาทุนมนุษย์ และทุนกายภาพ พบว่า มีการพัฒนาอยู่ในระดับดี และปานกลาง ตามลำดับ โดยการพัฒนาทุนมนุษย์มีคะแนน 3.54 (เต็ม 5 คะแนน) ซึ่งผ่านเกณฑ์ระดับดีที่ 3.50 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาตามบนฐานความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องของการพัฒนาความรู้ที่อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก (ปานกลาง) นอกจากนี้ การที่มีการสะสมด้านทุนกายภาพที่ไม่สูงมากนัก ส่งผลให้เกิดการพัฒนาบุคลากรในการที่จะปรับปรุงเทคนิคการผลิต การพัฒนาความรู้ในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ฯลฯ ทางหนึ่งด้วย
กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านต้นผึ้งสามารถเป็นต้นแบบที่ดีเพื่อเปรียบเทียบการปฏิบัติ (Benchmarking) ให้กลุ่มตัวอย่างอื่นในหลายด้าน เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านทักษะการผลิตและเทคโนโลยีการผลิต ตลอดจนการพัฒนาการมีส่วนร่วมของกลุ่มและชุมชนซึ่งถึงแม้ในประเด็นดังกล่าวกลุ่มยังต้องมีการพัฒนาความเชื่อมโยงของกลุ่มกับชุมชน แต่สามารถเป็นแบบอย่างในการศึกษาถึงกระบวนการ และปัญหาต่างๆ ให้กับกลุ่มอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่กลุ่มแปรรูปมะไฟจีนบ้านกอกเป็นแบบอย่างที่ดีในการไม่มุ่งเน้นการผลิตในผลิตภัณฑ์หลักเพียงอย่างเดียว แต่มองการผลิตในภาพรวมเพื่อสามารถรายได้ตลอดทั้งปีโดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายบนฐานการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นทำให้สามารถพึ่งพาตนเอง
ในส่วนของกลุ่มกึ่งชุมชนทั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวแต๋นน้ำแตงโมอำพัน และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเกาะคามีจุดเด่นด้านการบริหารจัดการที่จะลดความเสี่ยง ทั้งในด้านการมุ่งเน้นการลงทุนต่างๆ โดยพิจารณาความพร้อมและความคุ้มค่าเพื่อให้มีความเสี่ยงจากการลงทุนน้อยที่สุด อีกทั้งมีการสร้างตลาดกลุ่มลูกค้าหลายระดับ และแสวงหาตลาดทางเลือกใหม่ๆ เพื่อลดภาวะการแข่งขันด้านการตลาดที่รุนแรง เป็นต้น
จากการศึกษาสามารถแสดงถึงปัจจัยที่ทำให้กลุ่มในระบบการผลิตอาหารแปรรูปพื้นบ้านเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน หลายประการ ได้แก่ ผู้นำกลุ่มยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนากลุ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการที่ผู้นำกลุ่มมีทักษะหรือมีพื้นฐานในการทำธุรกิจมาก่อน มีความสามารถทั้งในด้านการผลิต และการตลาดจะส่งผลต่อการบริหารจัดการที่ชัดเจนต่อการพัฒนากลุ่ม และทำให้เกิดความคล่องตัวในด้านการบริหารจัดการ
ระบบการผลิตอาหารแปรรูปพื้นบ้านต้องมีการพัฒนาทุนกายภาพ และทุนสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดยการพัฒนาทุนทางกายภาพนั้นควรอยู่บนพื้นฐานการพึ่งตนเองในเบื้องต้นก่อนพึ่งพาภายนอก ซึ่งสามารถทำได้ในหลากหลายวิธี เช่น การระดมหุ้น การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ภายในกลุ่ม ฯลฯ เพื่อนำไปสู่การสะสมทุนกายภาพที่จำเป็นและเหมาะสมเพื่อพัฒนาการผลิตของกลุ่ม โดยมีตัวอย่างของกลุ่มที่มีการสะสมทุนกายภาพของตนเอง เช่น การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ของตนเองที่มีขนาดใหญ่มากพอที่จะเป็นแหล่งทุนให้กับกลุ่มและสมาชิกของกลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านต้นผึ้ง เป็นต้น
ในด้านการพัฒนาทุนด้านสิ่งแวดล้อมจากกลุ่มตัวอย่างในระบบอาหารแปรรูปพื้นบ้านยังไม่มีความชัดเจนมากนัก เนื่องจากกลุ่มมีความคิดว่าการผลิตของกลุ่มไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน แต่ทุกกลุ่มยังไม่ได้ตระหนักถึงมิติของการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรของชุมชนมากนัก ซึ่งในกลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านต้นผึ้ง และกลุ่มแปรรูปมะไฟจีนบ้านกอกที่มีการใช้วัตถุดิบของสมาชิกที่มีอยู่ในชุมชน
ในด้านการจัดกิจกรรมการพัฒนาให้เกิดกระบวนการเรียนรู้บนฐานการมีส่วนร่วมของสมาชิกกลุ่มในลักษณะโครงการที่กลุ่มต้องการเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งจากการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความสนใจและเป็นที่ต้องการการส่งเสริมในลักษณะดังกล่าวอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้กลุ่มเกิดการเรียนรู้ในการจัดทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาตนเองบนพื้นฐานทางวิชาการเพิ่มขึ้น
ดังนั้น ปัญหาที่ควรจะมีการปรับปรุงแก้ไขในระยะสั้น คือ การพัฒนาเพื่อยกระดับการเรียนรู้ของกลุ่มในระบบอาหารแปรรูปพื้นบ้าน และการพัฒนาการสะสมทุนกายภาพของกลุ่ม โดยส่งเสริมให้มีการระดมหุ้นหรือขยายหุ้นให้แก่สมาชิกเพื่อกระจายผลประโยชน์ให้กับสมาชิกอย่างทั่วถึง ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความเป็นเจ้าของ และเป็นโอกาสในการขยายการลงทุนบนฐานทุนของตนเอง อีกทั้งส่งเสริมการบริหารจัดการวัตถุดิบโดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการใช้วัตถุดิบและการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปี