รายงานฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การวิจัยและพัฒนาระบบการผลิตเกษตรและวิสาหกิจชุมชนตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อนำเสนอผลการศึกษาที่ได้จากการศึกษาเชิงลึกของกลุ่มตัวอย่างในระบบการผลิตหัตถกรรมพื้นบ้าน ได้แก่ กลุ่มผ้าปักชาวเขาปางค่า อำเภอปง จังหวัดพะเยา กลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านเฮี้ย อำเภอปัว จังหวัดน่าน และกลุ่มแม่บ้าน เยาวชน และผู้สูงอายุพัฒนาหัตถกรรมบ้านดงป่าซาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มเป็นตัวแทนกลุ่มหัตถกรรมที่มีขนาดองค์กรแตกต่างกัน

     ประเด็นการศึกษาวิจัยแบ่งได้ 3 ด้าน ได้แก่ 1) การศึกษาถึงการบริหารจัดการที่ดี 2) ความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง และ 3) การพัฒนาที่ยั่งยืน (ทุน 4 ประการ) ซึ่งผลจากการศึกษาเชิงประจักษ์และการประเมินตนเอง พบว่า ระบบหัตถกรรมพื้นบ้านมีการพัฒนาทั้งทางด้านการบริหารจัดการ ความสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่ในระดับปานกลาง โดยคะแนนด้านความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงมีคะแนนสูงที่สุด รองลงมา ได้แก่ การบริหารจัดการที่ดี และการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามลำดับ

     ในการพิจารณาการบริหารจัดการที่ดี กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนในองค์ประกอบการบริหารจัดการองค์กรสูงที่สุด อยู่ในระดับดี 3.83 (จากคะแนนเต็ม 5) ในขณะที่องค์ประกอบการด้านการบริหารจัดการสวัสดิการชุมชนมีคะแนนต่ำสุด อย่างไรก็ตามพบว่าทั้ง 3 กลุ่ม มีการปฏิบัติที่ดี/เป็นเลิศในด้านการบริหารจัดการต่างๆ ที่ดีเพียงพอที่จะเป็นตัวอย่างให้กับกลุ่มอื่นได้

     ในเกณฑ์ความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า พื้นฐานคุณธรรมในเรื่องของความซื่อสัตย์เป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่ทั้งในระดับกลุ่มและระดับสมาชิก แสดงออกถึงความสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งในการมีความซื่อสัตย์ไม่เอาเปรียบผู้จำหน่ายวัตถุดิบ ผู้บริโภค และแรงงานการผลิตของตนเอง แต่ในเรื่องของความรู้ยังมีคะแนนอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์ประกอบการจัดการความรู้แบบบูรณาการเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งมีคะแนนอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับสมาชิกหรือระดับครัวเรือน

     การพัฒนาที่ยั่งยืนที่พิจารณาผ่านทุนทั้ง 4 ประการ พบว่า การเป็นกลุ่มอาชีพชุมชนของกลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้านทั้ง 3 กลุ่ม ทำให้เกิดการพัฒนาด้านทุนทางสังคมมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มแม่บ้าน เยาวชนและผู้สูงอายุพัฒนาหัตถกรรมบ้านดงป่าซางซึ่งเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดการจ้างงานจำนวนมากในชุมชน แต่เมื่อพิจารณาถึงการพัฒนาทุนมนุษย์ และทุนกายภาพของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 3 กลุ่ม พบว่า มีการพัฒนาอยู่ในระดับต่ำ (พอใช้) ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาตามบนฐานความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องของการพัฒนาความรู้ที่อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก (ปานกลาง) เช่นเดียวกัน โดยกลุ่มแม่บ้าน เยาวชนและผู้สูงอายุพัฒนาหัตถกรรมบ้านดงป่าซางที่มีการพัฒนาในระดับที่ใกล้เคียงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จะมีระดับการพัฒนาทั้ง 3 ด้าน อยู่ระดับที่สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยจะมีการพัฒนาหรือสะสมทุน 4 ประการที่มากกว่า และมีแนวโน้มในการพัฒนาที่ยั่งยืนกว่ากลุ่มอื่น

     กลุ่มแม่บ้าน เยาวชนและผู้สูงอายุพัฒนาหัตถกรรมบ้านดงป่าซาง สามารถเป็นต้นแบบเพื่อเปรียบเทียบการปฏิบัติ (Benchmarking) ให้กลุ่มอีก 2 กลุ่ม ได้ในหลายด้าน เช่น การพัฒนารูปแบบโครงสร้างการบริหารจัดการองค์กร การจัดสรรผลกำไรเพื่อเป็นทุนในการดำเนินงานของกลุ่มในแต่ละปี การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อสามารถเป็นแหล่งเงินกู้ยืมให้กับสมาชิกกลุ่มและคนในชุมชน การบริหารจัดการสวัสดิการชุมชน เป็นต้น ในขณะที่กลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านเฮี้ยสามารถเป็นแบบอย่างให้กลุ่มอื่นในเรื่องของการสร้างฐานการตลาดในพื้นที่ การทำการตลาดสถาบัน เป็นต้น และกลุ่มผ้าปักชาวเขาปางค่าที่มีความโดดเด่นในเรื่องของการอนุรักษ์ภูมิปัญญาให้เป็นทุนของชุมชนและให้ชุมชนมีส่วนร่วม

     จากการศึกษาสามารถแสดงถึงปัจจัยที่ทำให้กลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้านเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน หลายประการ ได้แก่ ผู้นำกลุ่มเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนากลุ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งการที่ผู้นำกลุ่มมีทักษะหรือมีพื้นฐานในการทำธุรกิจมาก่อน จะส่งผลต่อการบริหารจัดการที่ชัดเจน ทำให้เกิดความคล่องตัวในด้านการบริหารจัดการ

     การพัฒนาเชิงระบบโดยพัฒนาการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นควบคู่กับการพัฒนาการผลิตหัตถกรรมพื้นบ้าน เพื่อให้เกิดการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสมาชิกและกลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่รายได้จากงานหัตถกรรมมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ทั้งหมด ตัวอย่างในกรณีของกลุ่มผ้าปักชาวเขาปางค่าที่จำเป็นต้องพัฒนาอาชีพหลักทางการเกษตรควบคู่ไปกับการพัฒนาอาชีพเสริมด้านหัตถกรรมจึงจะทำให้สมาชิกและกลุ่มมีการพัฒนาเข้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น (สมาชิกตัวอย่างของกลุ่มแม่บ้าน เยาวชนและผู้สูงอายุพัฒนาหัตถกรรมบ้านดงป่าซางมีรายได้เฉลี่ยจากการผลิตหัตถกรรมสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 75.63 ของรายได้จากการผลิตทั้งหมด รองลงมา คือ สมาชิกกลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านเฮี้ย และกลุ่มผ้าปักชาวเขาปางค่า คิดเป็นร้อยละ 67.02 และ 6.67 ตามลำดับ)

     ความจำเป็นในการพัฒนาขนาดการผลิตให้เหมาะสม โดยกลุ่มขนาดเล็กที่มีจำนวนสมาชิกไม่มาก ทำให้ไม่สามารถสร้างแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาต่างๆ ได้อย่างรุนแรง ทำให้เกิดการสะสมทุนด้านต่างๆ ได้น้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีสมาชิกที่มากกว่า (หรือการไม่ประหยัดต่อขนาด) (กรณีกลุ่มผ้าปักชาวเขาปางค่า)

     การส่งเสริมและพัฒนาความรู้ที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจุดอ่อนที่สำคัญที่แสดงออกอย่างชัดเจนในการประเมินตนเองทั้งในระดับกลุ่มและระดับสมาชิกของระบบการผลิตหัตถกรรมพื้นบ้าน คือ จุดอ่อนในการพัฒนาทุนมนุษย์ให้เกิดการเรียนรู้และสามารถปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การปรับตัวไม่ทันกับกับตลาดเสื้อเหลืองของกลุ่มทอผ้าไทลื้อบ้านเฮี้ย หรือการเรียนรู้เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของตนเอง

     การพัฒนาการสะสมทุนกายภาพ เนื่องจากการสะสมทุนกายภาพเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กลุ่มในระบบหัตถกรรมพื้นบ้านมีคะแนนอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากลักษณะของการเป็นงานหัตถกรรมที่ใช้ฝีมือมนุษย์มากกว่าการใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ แต่สิ่งที่สำคัญในการพัฒนาด้านทุนกายภาพจากการศึกษา คือ การขาดการสะสมทุนที่เป็นตัวเงินที่มากเพียงพอ โดย 2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างยังคงมีการกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินทุนภายนอก และการกู้ยืมแอบแฝง (นำเงินของประธานกลุ่มมาเป็นเงินหมุนเวียนของกลุ่ม) ทำให้ไม่สามารถไปสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง

     การพัฒนาฐานการตลาดในท้องถิ่นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด ถึงแม้ว่าการทำการตลาดที่สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงนั้น อาจไม่จำเป็นต้องตอบสนองตลาดในท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับลักษณะของผลิตภัณฑ์ ลักษณะของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและศักยภาพในการทำการตลาดของแต่ละกลุ่ม แต่การทำการตลาดที่ตอบสนองตลาดในท้องถิ่นเป็นพื้นฐานที่จำเป็นในกลุ่มที่ขนาดเล็กถึงขนาดกลางที่ยังมีศักยภาพการพัฒนาด้านการตลาดที่ยังไม่ใกล้เคียงกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

     การจัดกิจกรรมการพัฒนาให้เกิดกระบวนการเรียนรู้บนฐานการมีส่วนร่วมของสมาชิกกลุ่มในลักษณะโครงการที่กลุ่มต้องการยังคงเป็นที่ต้องการ เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ซึ่งจากการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความสนใจและเป็นที่ต้องการการส่งเสริมในลักษณะดังกล่าวอย่างชัดเจน ซึ่งทำให้กลุ่มเกิดการเรียนรู้ในการจัดทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาตนเองบนพื้นฐานทางวิชาการเพิ่มขึ้น

     ดังนั้น ปัญหาที่ควรจะมีการปรับปรุงแก้ไขในระยะสั้น คือ การพัฒนาเพื่อยกระดับการเรียนรู้ของกลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้าน และการพัฒนาการสะสมทุนกายภาพของกลุ่ม ซึ่งควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับบริบทหรือลักษณะจำเพาะของแต่ละกลุ่มมากขึ้น ในขณะที่เงื่อนไขคุณธรรมเป็นเงื่อนไขที่มีความโดดเด่นสูงและสามารถพัฒนาต่อยอดให้ในเงื่อนไขดังกล่าวได้ง่ายทั้งในระดับกลุ่มและระดับสมาชิก