โครงการพัฒนาตนเองเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการวิจัยและพัฒนาระบบการผลิตเกษตรและวิสาหกิจชุมชนตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อนำเสนอ ผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาตนเอง จำนวน 19 โครงการของ 18 กลุ่มตัวอย่าง จาก 6 ระบบการผลิต ที่มีการแสดงให้เห็นศักยภาพในการพัฒนาตนเองตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีการปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
โครงการพัฒนาตนเอง สามารถจำแนกประเภทตามแผนกิจกรรม และวัตถุประสงค์ได้ดังนี้ 1) โครงการเพื่อการบริหารจัดการด้านการผลิต 2) โครงการเพื่อการบริหารจัดการด้านการผลิตและต่อยอดองค์ความรู้เพื่อขยายผล และ 3) โครงการเพื่อการบริหารจัดการด้านการผลิตและการจัดการองค์กร ซึ่งแต่ละกลุ่ม/สหกรณ์ เลือกดำเนินการเพื่อลดจุดอ่อนหรือปัญหาหลักของตนเอง และโครงการทั้ง 3 ประเภท ได้รับการสนับสนุนในด้านความรู้ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิต และทุนที่ใช้ในการดำเนินงาน ทั้งนี้กลุ่ม/สหกรณ์ได้ร่วมลงทุนตามกำลังความสามารถของตนเอง ผลการดำเนินงาน พบว่า มีโครงการที่ดำเนินงานได้เสร็จสิ้นสมบรูณ์แล้ว 6 โครงการ ที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินงาน 13 โครงการ โดยทุกโครงการมุ่งหวังว่าการจัดทำโครงการจะเอื้อประโยชน์ในการประกอบอาชีพหลักของสมาชิก ได้แก่ (1) ระบบการผลิตส้ม จัดทำโครงการเพื่อลดต้นทุนในการผลิต ด้วยการผลิตปุ๋ยหมักสำหรับทดแทนการใช้สารเคมี และปรับปรุงดินให้มีอินทรีย์วัตถุเพิ่มขึ้น (2) ระบบการผลิตลำไย จัดทำโครงการเพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ ด้วยการสร้างอาชีพเสริม จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร (3) ระบบการผลิตข้าว จัดทำโครงการเพื่อพัฒนาและสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ถูกต้องของการผลิตระบบเกษตรอินทรีย์ (4) ระบบการผลิตโคนม จัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพ ให้มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพขึ้น (5) ระบบการผลิตวิสาหกิจชุมชนอาหารแปรรูปพื้นบ้าน จัดทำโครงการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้เป็นที่ต้องการของตลาด และมีช่องทางในการจำหน่ายเพิ่มขึ้น และ (6) ระบบการผลิตหัตถกรรมพื้นบ้าน จัดทำโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในองค์กร ให้มีความรู้ ความสามารถในการบริหารจัดการ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมในโครงการได้อย่างถึง
จากการพิจารณาปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนากลุ่มตัวอย่างตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า การดำเนินงาน ทำให้สมาชิกส่วนใหญ่ มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการและเงื่อนไขของเศรษฐกิจพอเพียง ในระดับที่สามารถนำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับกิจกรรมในโครงการได้อย่างเป็นรูปธรรม และแสดงให้เห็นถึงกระบวนการดำเนินงานที่สร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการโครงการได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้ (1) ปัจจัยด้านการเรียนรู้ ที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างตระหนักถึงคุณค่าของการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self directed learning) และมีการพัฒนาความสามารถของบุคลากร ในด้านการบริหารจัดการที่ดีเพิ่มขึ้น ได้แก่ การบริหารจัดการด้านการผลิตโดยกลุ่ม/สหกรณ์ส่วนใหญ่ได้รับการเรียนรู้แนวทางการผลิตให้มีความสอดคล้องและสนับสนุนกับการประกอบอาชีพ การบริหารจัดการด้านวัตถุดิบ เพื่อพึ่งพาตนเองและสามารถจัดสรรวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตได้อย่างยั่งยืน การบริหารจัดการด้านการตลาดเพื่อให้การผลิตมีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาด การบริหารจัดการด้านองค์กร เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและโครงการสร้างขององค์กรให้เข้มแข็งขึ้น การบริหารจัดการด้านการเงินเพื่อให้มีทุนหมุนเวียนสำหรับการดำเนินงานอย่างยั่งยืน และการบริหารจัดการสวัสดิการชุมชนในลักษณะของการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อบริการด้านวิชาการให้กับชุมชน (2) ปัจจัยด้านการมีส่วนร่วม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการดำเนินงาน ตามขั้นตอนของกระบวนการมีส่วนร่วม และร่วมพัฒนาสมาชิกให้มีบทบาทในการดำเนินงาน และ (3) ปัจจัยด้านการพึ่งพาตนเอง กลุ่มตัวอย่างได้รับความช่วยเหลือ ด้านองค์ความรู้ ทุน และปัจจัยการผลิต ที่นำไปต่อยอดกิจกรรมในองค์กร เพื่อพัฒนาศักยภาพสมาชิกกลุ่ม/สหกรณ์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาบนฐานความรู้ ที่ทำให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้อย่างบูรณาการ
ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน พบว่า การดำเนินงานของกลุ่ม/สหกรณ์ในบางโครงการยังขาดความกระตือรือร้น ทำให้การดำเนินงานตามแผนกิจกรรมมีความล่าช้า ทั้งนี้เกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิต มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ปัจจัยด้านการเรียนรู้ในลักษณะของการทดลอง วิเคราะห์ เพื่อเปรียบเทียบผลการวิจัย โดยการเก็บข้อมูลด้วยการจดบันทึก การสังเกต ที่ได้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้น สมาชิกส่วนหนึ่งยังขาดความรู้ ความเข้าใจ ในวิธีการปฎิบัติซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ สำหรับการเรียนรู้กระบวนการวิจัย ปัจจัยด้านการมีส่วนร่วม ที่ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมกิจกรรม จึงไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร และ ปัจจัยด้านการพึ่งพาตนเอง เห็นได้จากบางโครงการยังรอความช่วยเหลือจากภายนอกเพียงอย่างเดียว ทั้งที่การดำเนินโครงการได้สร้างประโยชน์ให้กับสมาชิกกลุ่ม/สหกรณ์โดยตรง ดังนั้นควรสนับสนุนแนวทางการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของกลุ่ม/สหกรณ์ ให้มีการคิดที่เป็นระบบมากขึ้น ด้วยวิธีการจัดการความรู้ (Knowledge management)) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในการพึ่งพาตนเอง ซึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสมาชิกต่อไป